ปัญหาและอุปสรรค

ปัญหาและอุปสรรค เมื่อค้าขายกับจีน

ในแง่ของปัญหาและอุปสรรคด้านการค้าขายกับประเทศสาธารณรัฐประชาจีนนั้น มีข้อต้องพิจารณาหลายประการ คือ

1.มาตรการทางด้านการค้าที่มิใช่ภาษี โดยในการนำเข้าผลไม้มีข้อกำหนด ดังนี้

- มีใบรับรองโรคพืชและแมลง และต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านสุขอนามัยพืช ณ ด่านกักกันพืช ที่ท่าอากาศยาน และท่าเรือ เช่น ในการนำเข้าลำไยกำหนดให้ หากสุ่มตรวจพบโรคและแมลงต้องนำไปรมควันด้วย Methyl Bromide ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมทั้งต้องมีใบรับรองตรวจสอบสารตกค้าง จากกรมวิชาการเกษตร ไม่ให้มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างที่เนื้อลำไยเกินกว่า 300 ppm และไม่มีสารตกค้างเมทามิโดฟอส

- มะม่วงและทุเรียนที่จะส่งเข้านั้นต้องมาจากสวนที่ผ่านการตรวจสอบและจดทะเบียนแล้วจากกรมวิชาการเกษตร ส่งผลให้สวนที่ไม่ได้ผ่านการรับรองไม่สามารถส่งเข้าไปมณฑลที่มีการเข้มงวด เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง

2.ระเบียบการนำเข้าและส่งออกผลไม้ MOFTEC (Ministry of Foreign Trade and Economic Cooperation) กำหนดให้ผู้นำเข้าและส่งออกได้จะต้องเป็นผู้ที่มีใบรับรองอนุญาต (License) สำหรับบริษัทธุรกิจจีนที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองชายฝั่งทะเล ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านหยวน จึงจะสามารถขออนุญาตประกอบการนำเข้า-ส่งออกได้
สำหรับบริษัทธุรกิจที่อยู่ในเมืองอื่น ๆ ทุนจดทะเบียนจะลดลงเหลือเพียงไม่ต่ำกว่า 3 ล้านหยวน ของแต่ละมณฑล ซึ่งในการขออนุญาตนำเข้าผลไม้ไทยจะนำเข้าและจำหน่ายได้จะต้องผ่านผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าว

3.การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศจีน แม้อัตราภาษีนำเข้าจะลดเหลือศูนย์ก็ตาม แต่จีนยังมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้นำเข้า ร้อยละ 13 สำหรับผลไม้สด และร้อยละ 17 สำหรับผลไม้แปรรูป ทำให้ผู้นำเข้าผลักภาระไปให้พ่อค้าขายส่ง ขายปลีก ส่งผลให้ราคาผลไม้ของไทยสูงกว่าผลไม้ที่ผลิตในจีน

4.คุณภาพมาตรฐานของผลผลิตของไทย ผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยยังไม่ได้มาตรฐานการส่งออกและมีปัญหาสารตกค้าง เนื่องจากยังมีเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามวิธีการเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agriculture Practice : GAP) ทำให้สินค้ายังคงมีปัญหาสารตกค้าง ได้แก่ ผัก ผลไม้ (ลำไย ทุเรียน)

5.การกำหนดมาตรฐานสินค้าส่งออก ยังมีปัญหาใหญ่ 2 ประการ คือ

- มาตรฐานคุณภาพสินค้าของไทยบางส่วนยังไม่มีการกำหนดคุณภาพ และที่มีการกำหนดไปแล้วก็ยังไม่มีการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ รวมทั้งการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งออกยังขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ตรวจสอบ และเจ้าหน้าที่ชำนาญเฉพาะทางวิทยาศาสตร์ด้านพืช

- ขาดความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานสินค้าส่งออกของทั้ง 2 ประเทศ ให้เป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกัน
6.แหล่งรวบรวมและกระจายสินค้าของไทย ปัจจุบันยังขาดผู้ขายส่งสินค้า (Distributors) ของไทยในตลาดจีน ที่ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมสินค้าที่นำเข้าจากไทยและกระจายสินค้าของไทยไปยังตลาดในมณฑลต่าง ๆ ในจีน

7.เส้นทางและระวางขนส่งสินค้า ในส่วนที่ยังเป็นปัญหาประกอบด้วย

- เส้นทางการขนส่งหลักจากไทยไปจีนยังเป็นการขนส่งทางเรือ ซึ่งต้องผ่านฮ่องกงก่อนเข้าสู่จีน ไปยังเมืองท่าหลัก ๆ คือ กวางโจ และเซินเจิน ก่อนกระจายสู่มณฑลต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางบก โดยรถยนต์บรรทุกธรรมดา ขณะที่เส้นทางยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้เกิดความล่าช้า และคุณภาพของผลไม้ด้อยลงเมื่อถึงปลายทาง รวมทั้งไม่สามารถขนส่งในระยะทางไกล ๆ ได้

- ค่าระวางขนส่งค่อนข้างแพงและขาดแคลน โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องการส่งออกมาก ๆ

- ขาดเรือพาณิชย์ที่เป็นของไทยในการขนส่งสินค้าเส้นทางแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันต้องพึ่งพาเรือพาณิชย์ของจีนเกือบทั้งหมด

แปด การบริหารจัดการธุรกิจในจีน ปัจจุบันขาดศูนย์กลางข้อมูลทางด้านธุรกิจการค้าเชิงลึกของจีนทั้งด้านกฎหมาย ระเบียบ และวัฒนธรรมการค้าของจีนที่จะเชื่อมโยงให้กับผู้ส่งออกของไทยใช้ในการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งปัญหาการเจรจาทางการค้าที่ยังใช้ภาษาจีนเป็นหลัก